เรื่องต้องเรียนรู้ก่อนทำธุรกิจ
การจดทะเบียนพาณิชย์และภาษี
- การเริ่มต้นธุรกิจ
เมื่อเริ่มต้นธุรกิจหลายคนอาจสงสัยว่า เราจะต้องไปจดทะเบียนอะไรบ้าง ? จริงๆแล้วข้อกำหนดเรื่องการจดทะเบียน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ สมมติว่า นาย A เริ่มต้นทำธุรกิจคนเดียว ลงทุนคนเดียว ธุรกิจของนาย A ก็จะอยู่ในสถานะ “บุคคลธรรมดา”
“บุคคลธรรมดา” ที่ประกอบธุรกิจค้าขาย มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มและตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้ได้ที่ http://www.dbd.go.th
- ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ไหน ?
เมื่อเตรียมเอกสารเสร็จแล้ว หากอยู่ในกรุงเทพฯสามารถไปยื่นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสำนักงานเขตทุกสาขา
หากอยู่ต่างจังหวัดสามารถไปยื่นที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล
จริงๆแล้วการจดทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ใช้เอกสารไม่กี่อย่าง ค่าธรรมเนียมก็ไม่แพง และใช้เวลาไม่นาน
- ทะเบียนพาณิชย์
เมื่อจดทะเบียนเสร็จแล้วจะได้ทะเบียนพาณิชย์ ให้นำทะเบียนพาณิชย์ที่ได้ ไปแสดงในสถานประกอบการ ณ จุดที่เห็นได้ง่าย
- ร้านค้าออนไลน์
ถึงเราจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ก็ต้องจดทะเบียนพาณิชย์เช่นเดียวกัน โดยจดเป็นทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขั้นตอนเหมือนการจดทะเบียนพาณิชย์ปกติ เพียงแต่ต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ด้วย
เมื่อจดทะเบียนทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จะได้เลขทะเบียนและเครื่องหมาย DBD registered เพื่อนำไปแสดงในร้านค้าออนไลน์ของเรา ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกิจการของเรา
เมื่อทำธุรกิจมีรายได้ เราก็มีหน้าทีต้องเสียภาษี
ภาษีเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ ในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สร้างถนน รถไฟ รถไฟฟ้า บริการสารณสุข และเรียนฟรี เป็นต้น
- กำไรนิดเดียวต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
ถ้ากิจการของเรามีกำไรนิดเดียวต้องเสียภาษีหรือเปล่า? ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่ากิจการของเรา จะมีกำไรหรือขาดทุน เรามีหน้าทีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้รอบครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 94 โดยจะต้องยื่นภายในเดือนกันยายนของปีที่มีเงินได้ และจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีหรือ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปด้วย
วิธีการยื่นก็ง่ายๆ จะยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th หรือจะไปยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาก็ได้ และถ้ากิจการของเรา มียอดขายตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เราจะต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยและถ้าหากนาย A ต้องการขยายกิจการ นาย A อาจจัดตั้งกิจการให้เป็นบริษัทก็ได้ โดยนาย A สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ได้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว ก็จะมีสถานะเป็น “ นิติบุคคล”
“นิติบุคคล” มีสถานะทางกฎหมายแยกออกจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทของนาย A มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง
- รอบครึ่งปี ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน
- รอบสิ้นปี ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ยื่นภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานทางการเงินหรือบัญชีและยื่นพร้อมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
สำหรับบัญชีที่นิติบุคคลต้องจัดทำ ก็เช่น รายงานแสดงฐานะทางการเงินหรืองบดุล งบกำไรขาดทุน เป็นต้น
ตอนนี้ กรมสรรพากรได้พัฒนาโปรแกรมบัญชีอย่างง่าย สำหรับ SME โดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกให้ SME จัดทำบัญชีได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรมแกรมได้ฟรี ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยโปรแกรมจะช่วยประมวลข้อมูลในรูปของรายงานทางบัญชีต่างๆ ได้แก่ รายงานภาษีซื้อ-ขาย รายงานการรับ-จ่ายชำระหนี้ รายงานข้อมูลเช็ค งบกำไรขายทุน บัญชีแยกประเภท รายงานสินค้าคงเหลือ และ งบดุล และนอกจากนี้ยังสามารถส่งข้อมูลไปบันทึกในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำรายละเอียดมาแสดงเป็นรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย ใบกำกับภาษี และแบบ ภ.พ.30 พร้อมใบแนบอัตโนมัติเพื่อนำไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่อกรมสรรพากรได้ทันที
เมื่อทราบแล้วว่าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้อย่างไร ผู้ประกอบการก็อย่าลืมยื่นแบบให้ถูกต้องและตรงเวลา และ อย่าลืมว่าถ้ามียอดขายตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปเมื่อไรต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกันด้วย ยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ช่วยพัฒนาประเทศไทย ให้ก้าวหน้า
หากท่านต้องการข้อมูลส่วนใดเพิ่มเติม หรือ สนใจบริการ โปรดติดต่อ
บริษัท นารา การบัญชี จำกัด
โทร 080 173 2000 ; 080 174 2000
โทร 080 286 2000 ; 080 287 2000
โทร 02 933 5511 ; 02 933 5512
กรณีเร่งด่วน/ หลังเลิกงาน โทร 080 175 2000
แฟ็กซ์. 02 933 5890 อีเมล์: info@53ac.com
สำเนาถึง: 53ac.com@gmail.com